การหยั่งรากและเติบโตของโรตารีประเทศไทย

เรียบเรียงจากบันทึกของ อน.บุญเทียม อึ๊งภากรณ์ โดย คุณน้ำทิพย์ ลัพธวรรณ และคุณสุทธิรัตน์ วิเวก
ปรับปรุงเพิ่มเติมโดย อผภ.ชำนาญ จันทร์เรือง

คำว่า "โรตารี" กำเนิดขึ้นโดยพอล พี แฮร์ริส เนื่องจากกำหนดให้มีการหมุนเวียน (Rotate) เปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุมกันไปตามสถานที่ทำงานของสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้โรแทเรียนแต่ละคนได้รับรู้แนวคิด ตลอดจนทำความรู้จักกับอาชีพของสมาชิกคนอื่น ๆ

สโมสรโรตารีแห่งแรกก่อตั้งขึ้นที่เมืองชิคาโกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2448 (ค.ศ.1905) โดยพอล แฮร์ริส และเพื่อนนักธุรกิจอีก 3 คน จากนั้นสโมสรโรตารีแห่งที่ 2 จึงได้ก่อตั้งขึ้นในเมืองซานฟรานซิสโกในปี 2451 (ค.ศ.1908) และอีก 2 ปีต่อมาคือปี 2453 (ค.ศ.1910) สโมสรโรตารีได้เพิ่มจำนวนเป็น 16 สโมสรในสหรัฐอเมริกา

ในปีเดียวกันนี้เอง ได้เริ่มมีการจัดการประชุมใหญ่โรตารีครั้งแรกในเมืองชิคาโก โดย พอล แฮร์ริส ได้รับเลือกให้เป็นประธานสโมสรโรตารีแห่งชาติ จากนั้นโรตารีได้ขยายไปประเทศใกลัเคียงคือแคนาดา ในปี 2454 (ค.ศ.1911) ตลอดจนอังกฤษและไอร์แลนด์ เมื่อถึงปี 2455 (ค.ศ.1912) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมสโมสรโรตารีสากล (The International Association of Rotary Clubs) และเรียกให้สั้นลงเป็น "โรตารีสากล" (Rotary International) ในปี 2465 (ค.ศ.1922)

ในดินแดน "แหลมทอง" รากแก้วของโรตารีได้เริ่มหยั่งลึกครั้งแรกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ในปี 2471 (ค.ศ.1928) โดยโรแทเรียนเจมส์ ดับบลิว เดวิดสัน แห่งสโมสรโรตารีแคลแกรี่ เมืองอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษที่มีอำนาจเต็มจากโรตารีสากล ในการเยี่ยมและก่อตั้งสโมสรโรตารีในภูมิภาคตะวันออก

หลังจากการเยี่ยมเยียนของโรแทเรียนเจมส์ ดับบลิว เดวิดสัน การเตรียมก่อตั้งสโมสรโรตารีกัวลาลัมเปอร์ ได้ถูกนำเสนอต่อโรตารีสากล ขณะเดียวกัน ก็มีการก่อตั้งสโมสรขึ้นในส่วนอื่น ๆ ของมาเลเซีย (เดิมคือสหพันธรัฐมาเลย์) และรัฐในช่องแคบ (เช่น มะละกา, ปีนัง และสิงคโปร์ในอดีต) ต่อไปนี้คือลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการก่อตั้งสโมสรโรตารีในประเทศไทย

ปี 2473 (ค.ศ.1930)

หลังจากประสบความสำเร็จในการก่อตั้งสโมสรโรตารีถึง 7 สโมสร ในสหพันธรัฐมลายู (มาเลเซีย) ในระยะเวลาเพียง 2 ปี เจมส์ ดับบลิว เดวิดสัน ก็เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เขาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ซึ่งทรงเป็นบุคคลหนึ่งที่มีอิทธิพลและความเคลื่อนไหวมากที่สุดในคณะรัฐบาลสมัยนั้น โดยได้ขอประทานพระดำริในการก่อตั้งสโมสรโรตารีในประเทศไทย

จากนั้น เสด็จในกรมฯ จึงได้ทรงก่อตั้ง "สโมสรโรตารีกรุงเทพ" เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2473 (ค.ศ.1930) และทรงได้รับเลือกเป็นนายกคนแรกของสโมสร โดยมี มร. อาร์ ดี แอตกินสัน จากบริษัท Tilleke and Gibbins เป็นรองนายก และมี มร. แฟรงค์ เอส วิลเลี่ยมส์ ทูตการค้าอเมริกัน รับหน้าที่เป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์ สโมสรโรตารีกรุงเทพมีสมาชิกก่อตั้ง 69 ท่าน ประกอบด้วยบุคคลจากองค์กรทางสังคมและธุรกิจ จากสัญชาติต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 15 ชาติ ซึ่งถือเป็นสถิติโลกของโรตารี โดยได้รับสารตราตั้งจากโรตารีสากล เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2473 (ค.ศ. 1930)

ในงานฉลองสารตราตั้งของสโมสร เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2473 (ค.ศ. 1930) ณ วังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎ) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินไปร่วมงานเลี้ยงตามคำกราบบังคมทูลเชิญด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประทับถัดจากนายกก่อตั้ง แม้ว่าจะไม่ได้พระราชทานพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการ แต่เหล่าโรแทเรียน สุภาพสตรี และแขกที่มาร่วมงานต่างก็สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

พ.ศ.2474 (ค.ศ.1931)

  • ในปีนี้ มีสโมสรโรตารี 8 สโมสรในเขตแหลมทอง ได้แก่ สโมสรกัวลาลัมเปอร์, ซาเรมบัง, อิโปห์, กาลังและชายฝั่ง, สิงคโปร์, มะละกา, ปีนัง และกรุงเทพฯ โดยถูกจัดเป็นกลุ่มเรียกว่า "ภาคโรตารี บี" ซึ่งมีสถานภาพเป็นเพียง “ภาคโรตารีชั่วคราว” (Provisional District “B”) ของโรตารีสากล
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (และสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี) เสด็จพระราชดำเนินในเวลาค่ำไปในงานของสโมสรโรตารีกรุงเทพ ที่โรงแรมวังพญาไท เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 48 หน้า 3760 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2474

ปี 2478-79 (ค.ศ. 1935-36)

  • ด้วยเหตุผลบางประการ สโมสรโรตารีที่อยู่ในการปกครองของฝรั่งเศส ได้แก่ กัมพูชา, ลาว และเวียดนาม ได้ถูกผนวกเข้าใน “ภาคโรตารี บี” ซึ่งได้เปลี่ยนเป็น “ภาคโรตารี 80 โรตารีสากล” โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (H.R.H. Prince Purachatra) องค์นายกก่อตั้งของสโมสรโรตารีกรุงเทพ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคโรตารี 80 บุคคลแรก เสด็จในกรมฯ ทรงรับตำแหน่งหน้าที่ผู้ว่าการภาคติดต่อกัน 2 สมัย คือ ปี 2478-79 และปี 2479-80

ปี 2479-80 (ค.ศ. 1936-37)

  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคเป็นสมัยที่ 2 แต่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 14 กันยายน 2479 (ค.ศ. 1936) หลังจากทรงรับตำแหน่งผู้ว่าการภาคสมัยที่สองได้เพียงสามเดือนเศษเท่านั้น ซึ่งนับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของภาคโรตารี ทั้งนี้ รทร.ดับบลิว อลัน อีเลย์ แห่งสโมสรโรตารีสิงคโปร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคต่อมา
  • สโมสรโรตารีบรูไน, บอร์เนียวเหนือ และซาราวัค ได้เข้าร่วมอยู่ในภาค 80

ปี 2482-83 (ค.ศ. 1939-40)

  • รทร.ชาร์ลส โรเบิร์ต ซามูแล แห่งสโมสรโรตารีปีนัง ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาค คนที่ 4 และได้มีการประชุมครั้งแรกของภาคโรตารี 80 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2482 (ค.ศ. 1939) โดย ฯพณฯ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม ซึ่งได้เรียกเก็บค่าลงทะเบียน 10 เหรียญสหรัฐสำหรับโรแทเรียน และ 5 เหรียญ สำหรับโรตารีแอนน์ โดยครั้งนั้นมีโรแทเรียนเข้าร่วมประชุม 91 คน กับโรตารีแอนน์อีก 27 คน

ปี 2483-84 (ค.ศ. 1940-41)

  • พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร สมาชิกก่อตั้งสโมสรโรตารีกรุงเทพ เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 6 ของภาค 80

ปี 2484-88 (ค.ศ. 1941-45)

  • ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศในดินแดนแหลมทองอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น การดำเนินกิจกรรมของสโมสรโรตารีกรุงเทพจึงต้องหยุดไปโดยปริยาย แต่จิตวิญญาณของโรตารียังคงอยู่ หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อสงครามสงบลง สมาชิกสโมสรโรตารีกรุงเทพ ได้รวมตัวกันอีกโดยใช้ชื่อว่า "บริการสมาคมแห่งกรุงเทพฯ" ที่ยังคงรักษาวัตถุประสงค์และอุดมการณ์แห่งโรตารีเอาไว้ งานของสมาคมฯ ได้แก่ การช่วยเหลือเด็กกำพร้า, คนตาบอด และผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจากการทิ้งระเบิดทางอากาศ

ปี 2489-2490 (ค.ศ. 1946-47)

  • ในปีต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สมาชิกสโมสรโรตารีทั่วโลกค่อย ๆ กลับเข้ามาสู่โรตารีสากล รวมทั้ง 6 สโมสรในภาค 80 ด้วย สโมสรโรตารีกรุงเทพได้มีการก่อตั้งขึ้นใหม่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2487 (ค.ศ. 1946) และได้รับสารตราตั้งหมายเลขเดิม 3392 ภาค 80 ได้ถูกก่อตั้งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 ตุลาคม 2487 (ค.ศ. 1946) โดย รทร.ธีโอดอร์ เอช สโตน แห่งสโมสรโรตารีสิงคโปร์ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 8 และได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อมอบสารตราตั้งให้สโมสรโรตารีกรุงเทพในเดือนเมษายน 2488 (ค.ศ. 1947)

ปี 2490-91 (ค.ศ. 1947-48)

  • สโมสรโรตารีกรุงเทพได้มีโอกาสต้อนรับประธานโรตารีสากล ปี 2490-91 (1947-48) เอสเคนดริก เกิร์นซี พร้อมด้วยภรรยาคือเอดิธ ในระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคม 2490 (ค.ศ. 1947) ในสมัยของนายกหลวงชำนิกลการ โดยได้เข้าพบ ฯพณฯ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ พระยาสุนทรพิพิธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย งานเลี้ยงรับรองได้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ทั้ง 2 ท่าน ณ สวนอัมพร
  • โรตารีสากลได้จัดลำดับหมายเลขของภาคโรตารี 80 เป็นภาค 46 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2491 (ค.ศ. 1948)

ปี 2492-93 (ค.ศ. 1949-50)

  • ในการประชุมภาค 46 ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2492 (ค.ศ. 1949) สมัยของผู้ว่าการภาค ซิดนีย์ เอส แฟรงคลิน (จากสโมสรโรตารีสิงคโปร์ สโมสรโรตรีกรุงเทพได้เสนอให้มีการเก็บเงินจำนวน 4 เหรียญสหรัฐจากแต่ละสโมสรเพื่อมอบไว้แก่ภาค ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมลงมติเห็นด้วย มีเพียง 2 สโมสรที่ไม่เห็นด้วย

ปี 2493-94 (ค.ศ. 1950-51)

  • พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) สมาชิกสโมสรโรตารีกรุงเทพ เป็นคนไทยคนที่ 3 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 12 ของภาค 46 การประชุมภาคครั้งที่ 16 ได้จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 ในระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2494 (ค.ศ. 1951) มีผู้เข้าร่วมประชุม 85 คน โดยมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและยังได้กรุณาเชิญผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดร่วมรับประทานอาหารเย็น ณ ทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย

ปี 2497-98 (ค.ศ. 1954-55)

  • พระยาศรีวิสารวาจา แห่งสโมสรโรตารีกรุงเทพ เป็นคนไทยคนที่ 4 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาค 46 ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 16 สโมสร (รวมทั้งสโมสรในประเทศไทย)
  • กรุงเทพฯ ได้รับเลือกเป็นสถานที่ประชุมภาคเป็นครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2497 (ค.ศ. 1954) ณ อาคารหอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีงานเลี้ยงคอกเทลแก่ผู้เข้าประชุมในคืนวันที่ 10 ธันวาคม ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 90 คน แบ่งเป็นโรแทเรียน 52 คน โรตารีแอนน์ 38 คน โดย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม และได้เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสโมสรในคราวนั้น

ปี 2498-99 (ค.ศ. 1955-56)

  • เหตุการณ์สำคัญที่สุดแห่งปีของโรตารีคือ ในวาระครบรอบ 25 ปี สโมสรโรตารีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2498 (ค.ศ. 1955) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงรับสโมสรโรตารีในประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายถึงสโมสรโรตารีที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากนั้น ก็จะอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์เช่นเดียวกัน
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารับสโมสรโรตารีในประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามหนังสือจากราชเลขาธิการ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2498
  • ประธานโรตารีสากล เอ แซด เบเกอร์ และคอร์เนเลีย ภริยา พร้อมด้วยคาร์ล เค ครูเกอร์ บรรณาธิการนิตยสาร The Rotarian ได้เดินทางจากสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2498 (ค.ศ. 1955) โดยมีหลวงสิทธิสยามการ นายกสโมสร เป็นผู้ให้การต้อนรับจากสนามบินดอนเมืองไปยังพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
  • ได้มีบันทึกไว้ว่าในปีนี้เองธรรมนูญและข้อบังคับของโรตารีสากลได้มีการแปลเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรก โดยนายกหลวงสิทธิสยามการแห่งสโมสรโรตารีกรุงเทพ (ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งของสโมสรโรตารีแห่งที่ 2 ในประเทศไทยในเวลาต่อมา)

ปี 2500-01 (ค.ศ. 1957-58)

  • โรตารีสากลได้คาดการณ์ล่วงหน้าไว้อย่างแม่นยำ จำนวนสโมสรทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 9,507 สโมสร มีสมาชิก 449,758 คน จึงมีการจัดตัวเลขภาคใหม่เป็นเลข 3 หลัก และในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 ภาคโรตารี 46 ก็ได้เปลี่ยนเป็นภาคโรตารี 330 ครอบคลุมสโมสรใน 7 ประเทศ คือ บรูไน, กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม
  • สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเติบโตของสโมสรโรตารีในประเทศไทยในช่วงแรก คือ การที่สโมสรโรตารีกรุงเทพใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นองค์กรของชาวต่างประเทศ และในขณะนั้นมีคนไทยไม่มากนักที่สามารถพูดและเข้าใจภาษาอังกฤษ อุดมการณ์ของโรตารีจึงถูกจำกัดอยู่เพียงในหมู่สมาชิก ครอบครัวและมิตรสหายเท่านั้น
  • เวลาผ่านมาถึง 30 ปี โรตารีในประเทศไทยจึงเริ่มแตกกิ่งก้านโดยความช่วยเหลือของสมาชิกก่อตั้งจากสโมสรโรตารีกรุงเทพ สโมสรโรตารีธนบุรีจึงถูกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2501 (ค.ศ. 1958) ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีสมาชิก 40 คน พระยามไหสวรรย์ อดีตสมาชิกของสโมสรโรตารีกรุงเทพ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรีได้รับเลือกเป็นนายกก่อตั้ง สโมสรแห่งใหม่นี้ได้รับสารตราตั้งจากโรตารีสากลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2501 (ค.ศ. 1958) ในสมัยของประธานโรตารีสากล ชาร์ล จี เทนเนนท์ จากสโมสรอาร์ชวิลล์, นอร์ธ แคโรไลน่า, สหรัฐอเมริกา สมาชิกสโมสรและแขกรับเชิญของสโมสรโรตารีธนบุรีรู้สึกสะดวกมากขึ้นเมื่อเข้าประชุมประจำสัปดาห์โดยใช้ภาษาไทย สโมสรโรตารีธนบุรีได้จัดพิธีฉลองสารตราตั้ง ณ โรงแรมแกรนด์ โฮเต็ล ในวันที่ 6 กันยายน 2501 (ค.ศ. 1958) โดยมีผู้ว่าการภาค Ny Tihon จากสโมสรโรตารีไซง่อน เข้าร่วมในพิธีด้วย

ปี 2502-03 (ค.ศ. 1959-60)

  • อผภ.พระยาศรีวิสารวาจาแห่งสโมสรโรตารีกรุงเทพ ได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารโรตารีสากลประจำภูมิภาคเอเซีย ประจำปีโรตารี 2502-03 (1959-60)
  • หลวงสิทธิสยามการ สมาชิกสโมสรโรตารีธนบุรี เป็นคนไทยคนที่ 5 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 21 ของภาค 330 การประชุมภาค ครั้งที่ 25 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2503 (ค.ศ. 1960)
  • หลังจากก่อตั้งสโมสรโรตารีธนบุรีได้ 1 ปี อุดมการณ์ของโรตารีได้แผ่ขยายไปสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง ได้มีการก่อตั้งสโมสรที่พูดภาษาไทยขึ้นอีก 2 แห่ง คือ สโมสรโรตารีเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2502 (ค.ศ. 1959) และสโมสรโรตารีนครสวรรค์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2503 (ค.ศ. 1960)

ปี 2503-04 (ค.ศ. 1960-61)

  • อกบร.พระยาศรีวิสารวาจา ได้รับเลือกเป็นรองประธานโรตารีสากลคนที่ 2 ในปี 2503-04 (1960-61)
  • รทร.ดาโต๊ะ หะยี มุสตาฟา อัลบัครี จากสโมสรโรตารีกัวลาลัมเปอร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 22 โดยมีสโมสรอยู่ในภาค 330 จำนวน 30 สโมสร (4 สโมสร อยู่ในประเทศไทย) ในปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าการภาค 330 ทางไปรษณีย์

ปี 2504-05 (ค.ศ. 1961-62)

  • ได้มีการก่อตั้งสโมสรโรตารีกรุงเทพใต้ (ใช้ภาษาอังกฤษในการประชุม) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2504 (ค.ศ. 1961) นับเป็นสโมสรที่ 3 ในกรุงเทพฯ และเป็นสโมสรที่ 5 ในประเทศไทย จำนวนสโมสรในภาค 330 เพิ่มขึ้นเป็น 32 สโมสร (5 สโมสรในประเทศไทย)
  • เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองในไซ่ง่อน การประชุมภาคครั้งที่ 27 ในไซ่ง่อนจึงต้องย้ายมาจัดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26-28 มกราคม 2505 (ค.ศ.1962) โดยมีสโมสรโรตารีกรุงเทพและสโมสรโรตารีกรุงเทพใต้เป็นเจ้าภาพร่วมกัน เนื่องจาก DG. Trong Dinh Dzu ไม่สามารถออกนอกประเทศมาปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการภาคในการประชุมครั้งนี้ได้ อผภ.หลวงสิทธิสยามการ จึงรับหน้าที่แทนซึ่งรวมถึงการเยี่ยมสโมสรอย่างเป็นทางการด้วย

ปี 2505-06 (ค.ศ. 1962-63)

  • พระยาศรีวิสารวาจา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการคัดเลือกประธานโรตารีสากล

ปี 2506-07 (ค.ศ. 1963-64)

  • รทร.พิชัย รัตตกุล สมาชิกก่อตั้งของสโมสรโรตารีธนบุรี เป็นคนไทยคนที่ 6 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการคนที่ 25 ของภาค 330 การประชุมภาคได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 10-12 มกราคม 2507 (ค.ศ. 1964) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีการกำหนดแนวคิดหลักเป็นครั้งแรกว่า "สามัคคี-จริงใจ-ลงมือกระทำ"
  • สโมสรโรตารีลำปาง ได้รับการรับรองจากโรตารีสากลเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2506 (ค.ศ.1963) ทำให้ภาค 330 มีสโมสรทั้งหมดจำนวน 38 สโมสร (6 สโมสรในประเทศไทย)

ปี 2507-08 (ค.ศ.1964-65)

  • รทร.แอล จี บริกก์ ยังก์ แห่งสโมสรโรตารีกัวลาลัมเปอร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคลำดับที่ 26 ในการประชุมภาค ได้มีการเสนอตั้งกองทุนเพื่อบรรเทาสาธารณภัย โดยขอบริจาคเงินจากสโมสรแต่ละแห่งในภาค ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม

ปี 2509-10 (ค.ศ. 1966-67)

  • รทร.นพ.บุญเลี้ยง ตามไท แห่งสโมสรโรตารีกรุงเทพ เป็นคนไทยคนที่ 7 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 28 ของภาค 330 การประชุมภาคจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14-26 กุมภาพันธ์ 2510 (ค.ศ. 1967) ขณะนั้นภาค 330 มีสโมสรในภาค 43 สโมสร (6 สโมสรในประเทศไทย)

ปี 2510-11 (ค.ศ. 1967-68)

  • Rtn Tan Sri Dr. Tae Teck Eng จากสโมสรโรตารีสิงคโปร์ตะวันตก ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 29 ของภาค 330 ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิก 50 สโมสร (11 สโมสรในประเทศไทย) และได้มีสโมสรโรตารีเกิดใหม่ 5 แห่งในประเทศไทย ได้แก่
    สโมสรโรตารีลพบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1967 (ค.ศ. 2510)
    สโมสรโรตารีสวรรคโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1968 (ค.ศ. 2511)
    สโมสรโรตารีเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1968 (ค.ศ. 2511)
    สโมสรโรตารีชลบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1968 (ค.ศ. 2511)
    สโมสรโรตารีพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1968 (ค.ศ. 2511)

ปี 2511-12 (ค.ศ. 1968-69)

  • Rtn Dr.C. H. Yang จากสโมสรโรตารีปีนัง ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคลำดับที่ 30 ในการประชุมภาคที่ปีนัง เมื่อวันที่ 21-23 มีนาคม 2512 (ค.ศ. 1969) เป็นครั้งแรกที่ PP Douglas Frazer จากสโมสรโรตารีปูดูเสนอให้มีการแยกภาคโรตารีในภูมิภาคนี้ออกเป็น 2 ภาคเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ข้อเสนอนี้ถูกนำเสนออีกครั้งโดย PP Datuk Dr.Kesmahinder Singh ซึ่งที่ประชุมได้รับหลักการเพื่อพิจารณาต่อไป
  • โรตารีประเทศไทยและภาค 330 ต้องพบความสูญเสียครั้งที่ 2 เมื่อพระยาศรีวิสารวาจา อดีตรองประธานคนที่ 2 ของโรตารีสากลได้ถึงแก่อสัญกรรมในปีนั้น
  • มีการก่อตั้งสโมสรโรตารีขึ้นอีก 2 แห่งในประเทศไทย คือ สโมสรโรตารีบางกะปิ (ใช้ภาษาอังกฤษในการประชุม) ได้รับการรับรองจากโรตารีสากลเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2511 (ค.ศ. 1968) และสโมสรโรตารีอุตรดิตถ์ ได้รับการรับรองจากโรตารีสากลเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2512 (ค.ศ. 1969)

ปี 2512-13 (ค.ศ. 1969-70)

  • มีสโมสรเกิดใหม่ในประเทศไทยอีก 3 แห่ง คือ สโมสรโรตารีนครปฐม ได้รับการรับรองจากโรตารีสากล เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2512 (ค.ศ. 1969) สโมสรโรตารีอุบล ได้รับการรับรองจากโรตารีสากลเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2513 (ค.ศ. 1970) และสโมสรโรตารียะลา ได้รับการรับรองจากโรตารีสากลเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2513 (ค.ศ. 1970)

ปี 2513-14 (ค.ศ. 1970-71)

  • รทร.นพ.ฤทธิ์ บุศยอังกูร สมาชิกสโมสรโรตารีธนบุรี เป็นคนไทยคนที่ 8 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคลำดับที่ 32 การประชุมภาคครั้งที่ 36 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2514 (ค.ศ. 1971) และเป็นครั้งแรกที่การประชุมภาคถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน การประชุมภาคภาษาอังกฤษจัดขึ้นที่สิงคโปร์ ส่วนภาคภาษาไทยจัดขึ้นที่เมืองพัทยา โดยมีสโมสรโรตารีชลบุรีเป็นเจ้าภาพ
  • ในปีนี้มีสโมสรเกิดใหม่เพียงแห่งเดียวคือสโมสรโรตารีเบตงซึ่งได้การรับรองจากโรตารีสากลเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 (ค.ศ. 1971)
  • เมื่อภาค 330 มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนสโมสรในประเทศไทย ท่านประธานโรตารีสากลวิลเลี่ยม อี วอล์ค จูเนียร์ จึงปรารภกับ ผวภ.นพ.ฤทธิ์ บุศยอังกูร ถึงความเป็นไปได้ในการแบ่งภาคโรตารี

ปี 2514-15 (ค.ศ. 1971-72)

  • รทร.ดร.วอลเตอร์ รินโทล จากสโมสรโรตารีสิงคโปร์ ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 33
  • ในการประชุมได้มีข้อเสนอเรื่องการแบ่งภาคออกเป็น 2 ภาค แต่ที่ประชุมได้ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว
  • จำนวนสโมสรในภาคได้เพิ่มขึ้นถึง 73 สโมสร และมีสโมสรโรตารีแห่งใหม่ 12 แห่ง จัดตั้งขึ้นในช่วงระหว่างปีนี้ ซึ่ง 9 แห่ง อยู่ในประเทศไทย คือ
    สโมสรโรตารีสิงห์บุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2514 (ค.ศ. 1971)
    สโมสรโรตารีระยอง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2514 (ค.ศ. 1971)
    สโมสรโรตารีจันทบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2514 (ค.ศ. 1971)
    สโมสรโรตารีราชบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารียโสธร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารีลำพูน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารีพะเยา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารีดุสิต ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารีสุพรรณบุรี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2515 (ค.ศ. 1972)

ปี 2515-16 (ค.ศ. 1972-73)

  • Rtn William Ng jit Thye จากสโมสรโรตารีปีนัง ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 34 และมีสโมสรโรตารีตั้งขึ้นใหม่อีก 4 สโมสรในประเทศไทยคือ
    สโมสรโรตารีนครราชสีมา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารีศรีสะเกษ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารีตาก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2515 (ค.ศ. 1972)
    สโมสรโรตารีพัทยา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2515 (ค.ศ. 1972)

ปี 2516-17 (ค.ศ. 1973-74)

  • รทร.อับดุล ราฮิม นัว จากสโมสรโรตารี Ipoh ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 35
  • มีการก่อตั้งสโมสรโรตารีในประเทศไทย 2 สโมสร คือ
    สโมสรโรตารีกำแพงเพชร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2516
    สโมสรโรตารีศรีราชา ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2516

ปี 2517-18 (ค.ศ. 1974-75)

  • รทร.ม.ร.ว.พัฒนไชย ไชยยันตร์ จากสโมสรโรตารีกรุงเทพ เป็นคนไทยคนที่ 9 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 36 และจากการประชุมภาค ครั้งที่ 40 ซึ่งจัดที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 9 ได้มีการประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของอดีตผู้ว่าการภาค กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2516 (ค.ศ. 1973) และการอสัญกรรมของพระยามไหสวรรย์ นายกก่อตั้งสโมสรโรตารีธนบุรี
  • ประเทศกัมพูชาและเวียดนามได้กลายเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น สโมสรโรตารีที่อยู่ใน 2 ประเทศจำต้องปิดตัวเองโดยอัตโนมัติ
  • มีสโมสรใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยในช่วงระหว่างปี คือ สโมสรโรตารีเชียงใหม่ตะวันตก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2518 สโมสรโรตารีบ้านฉาง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2518
  • มีจำนวนสโมสรโรตารีทั้งหมดในภาค 81 แห่ง (สโมสรในประเทศไทย 33 แห่ง)

ปี 2519-20 (ค.ศ. 1976-77)

  • Rtn Tan Geok Tian จากสโมสรโรตารีสิงคโปร์ตะวันตก ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 38
  • เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2518 ภาค 330 ได้สูญเสียโรแทเรียนที่ได้อุทิศตนไปอีกหนึ่งท่าน คือ อดีตผู้ว่าการภาคกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร)
  • มีสโมสรก่อตั้งขึ้นใหม่ 2 สโมสร คือ
    สโมสรโรตารีอุทัยธานี ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2519
    สโมสรโรตารีธนบุรีตะวันตก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2519

ปี 2520-21 (ค.ศ. 1977-78)

  • รทร.ศุภวัตร ภูวกุล สมาชิกสโมสรโรตารีเชียงใหม่ เป็นคนไทยคนที่ 10 ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 39 นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการประชุมภาคครั้งที่ 43 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ช่วงระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2521 (ค.ศ. 1978)
  • เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2520 (ค.ศ. 1977) โรแทเรียนจากสโมสรโรตารีต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการที่ชื่อว่า "โครงการพัฒนาตนเองบ้านเนินดินแดง" จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในหมู่บ้านในทุก ๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดิน การพัฒนาผลิตผล การทำตลาด การศึกษาและการสาธารณสุข
  • โครงการบริการชุมชนดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการสร้างถนนไปยังหมู่บ้านจัดหาไฟฟ้าและบ่อน้ำบาดาล การสร้างเขื่อนชลประทาน และการขุดคลองเพื่อการเกษตร รวมถึงด้านทันตกรรม จัดตั้งหน่วยพยาบาล ที่ทำการสหกรณ์ นอกจากนี้ ยังสร้างที่เก็บผลผลิต สร้างวัดวาอาราม และที่พักอาศัยอีก 15-20 แห่ง และนอกจากสิ่งเหล่านี้แล้วมวลมิตรโรแทเรียนจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ยังได้เข้าเยี่ยมและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม ทุ่งหญ้า และฟาร์มผึ้ง เป็นตัน โครงการทั้งหมดได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี 2524 (ค.ศ. 1981) และได้ส่งเรื่องไปยังกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2524 (ค.ศ. 1981)

ปี 2521-22 (ค.ศ. 1978-79)

  • รทร.ดร.เลิศ ศรีจันทร์ สมาชิกสโมสรโรตารีธนบุรี เป็นคนไทยคนที่ 11 ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 40 นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมภาคครั้งที่ 44 ในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2522 (ค.ศ. 1979) มีการเสนอมติในที่ประชุมถึงเรื่องที่จะแยกภาค 330 ออกเป็น 2 ภาค เนื่องจากจำนวนสโมสรที่อยู่ในภาคได้เพิ่มมากขึ้นเกือบจะ 90 แห่ง และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ว่าการภาคหนึ่งคนจะดูแลสโมสรภายในภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การประชุมภาคจำเป็นจะต้องจัดประชุม 2 แห่ง คือ ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และภูเก็ตหรือกรุงเทพฯ เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นในเรื่องการเดินทางและภาษาที่เกี่ยวข้อง
  • มีสโมสรโรตารีที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ 8 สโมสรในประเทศไทย คือ สโมสรโรตารีขอนแก่น, สโมสรโรตารีประจวบคีรีขันธ์, สโมสรโรตารีขาณุวรลักษณ์, สโมสรโรตารีแพร่, สโมสรโรตารีหาดใหญ่, สโมสรโรตารีเชียงใหม่เหนือ, สโมสรโรตารีอุทุมพรพิสัย, สโมสรโรตารีน่าน

ปี 2522-23 (ค.ศ. 1979-80)

  • วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 เป็นวันครบรอบ 75 ปีของโรตารีสากล
  • ต่อมามีการประชุมภาคครั้งที่ 45 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย วันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2523 (ค.ศ. 1980) ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนให้แยกภาค 330 ออกเป็น 2 ภาค การตัดสินใจดังกล่าวได้ถูกเสนอไปยังโรตารีสากลเพื่อรับในมติที่ว่าสโมสรที่อยู่ในประเทศไทยควรจะก่อตั้งเป็นหนึ่งภาค (ต่อมาได้ตั้งเป็นภาค 335) และสโมสรต่าง ๆ ที่อยู่ในบรูไน, มาเลเซีย, และสิงคโปร์ ก่อตั้งเป็นอีกภาคโรตารี (ต่อมายังคงเป็นภาค 330) และการแยกภาคทั้งสองควรจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2525 (ค.ศ. 1982) เป็นต้นไป

ปี 2523-24 (ค.ศ. 1980-81)

  • นับจากวันที่สโมสรโรตารีกรุงเทพถือกำเนิดขึ้นจนถึงปีนี้นับเป็นเวลา 50 ปีพอดี โรตารีในประเทศไทยจึงได้จัดงานครบรอบ 50 ปีของโรตารีประเทศไทยขึ้น ณ สวนอัมพร โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จให้ชาวโรแทเรียนเข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2523 เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ สโมสรโรตารีธนบุรีและหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้ร่วมกันให้ความอุปถัมภ์การประกวดออกแบบดวงตราไปรษณียากรเนื่องในโอกาสพิเศษนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์แสตมป์เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป
  • ในปีนี้ รทร.เนลสัน อเล็กซานเดอร์ สมาชิกสโมสรโรตารีกรุงเทพ เป็นคนไทยคนที่ 12 ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการภาคลำดับที่ 42 ของภาค 330
  • มีสโมสรโรตารีที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย 7 สโมสร คือ สโมสรโรตารีพระนครศรีอยุธยา, สโมสรโรตารีชุมพร, สโมสรโรตารีปราณบุรี, สโมสรโรตารีพระโขนง, สโมสรโรตารีแม่ฮ่องสอน, สโมสรโรตารีกรุงเทพตะวันออก, สโมสรโรตารีบ้านบึง

ปี 2524-25 (ค.ศ. 1981-82)

  • รทร.ดร.เล็ก นานา สมาชิกสโมสรโรตารีสวรรคโลก เป็นคนไทยคนที่ 13 ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าการภาคคนที่ 43 และเป็นผู้ว่าการภาคคนสุดท้ายก่อนที่ภาค 330 จะแยกตัวออกไป
  • มีสโมสรโรตารีก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย 7 แห่ง คือ สโมสรโรตารีแม่สาย, สโมสรโรตารีเชียงคำ, สโมสรโรตารีพาน, สโมสรโรตารีเด่นชัย, สโมสรโรตารีวัดสิงห์, สโมสรโรตารีอุดรธานี, สโมสรโรตารีพระนคร

ปี 2525-26 (ค.ศ. 1982-83)

  • รทร.โรจน์วิทย์ เปเรร่า จากสโมสรโรตารีกรุงเทพใต้ ได้กลายมาเป็นผู้ว่าการภาคคนแรกของภาค 335 ซึ่งได้จัดตั้งใหม่ ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และเป็นเอกสิทธิ์สำหรับโรตารีในเมืองไทยในการมีผู้ว่าการภาคคนใหม่จากการแต่งตั้งจากโรตารีสากลโดยตรง ในความเป็นจริงแล้วความเคลื่อนไหวของโรตารีในเมืองไทยเพิ่งจะเริ่มต้น เป็นการเริ่มต้นที่สโมสรโรตารีในเมืองไทยมีภาคเป็นของตนเอง มีจำนวนสโมสรได้เพิ่มขึ้นเป็น 69 แห่ง มวลสมาชิกส่วนใหญ่เริ่มมีความรู้สึกโล่งใจและสบายใจกับการได้ใช้ภาษาของตนเองในการโต้ตอบจดหมายและสื่อสารกับผู้ว่าการภาค
  • แม้ว่าภาค 335 จะแยกตัวจากภาค 330 อย่างเป็นทางการ แต่ความผูกพันอันอบอุ่นระหว่างมวลมิตรโรแทเรียนทั้งสองภาคยังคงแน่นแฟ้นและอยู่ในความทรงจำ ก่อนที่จะแยกตัวออกมาอย่างเป็นทางการ โรแทเรียนทั้งสองภาคต่างเห็นด้วยที่จะจัดงาน Joint District Conference ขึ้นทุก ๆ 2 ปี และงาน Joint District Conference ก็ได้จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2527
  • ในปีนี้ ประเทศไทยได้เฉลิมฉลองวาระที่กรุงเทพฯ ครบรอบ 200 ปี ทางสโมสรโรตารีทั้งหมด จึงบริจาคเงินเป็นจำนวน 1,068,700 บาท เพื่อจัดทำ 3 โครงการหลักในประเทศไทย คือ 1. โครงการจัดเก็บข้าว และธนาคารข้าว 2. ศูนย์ดูแลเด็ก 3. กองทุนพัฒนาเด็กในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ
  • มีสโมสรโรตารีที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ในประเทศไทย คือ สโมสรโรตารีหันคา, สโมสรโรตารีหนองช้าง, สโมสรโรตารีแม่จัน, สโมสรโรตารีอ่างทอง, สโมสรโรตารีแม่สะเรียง, สโมสรโรตารีพระประแดง, สโมสรโรตารีร้อยเอ็ด

ปี 2526-27 (ค.ศ. 1983-84)

  • นิตยสารโรตารีภาษาไทยได้ถือกำเนิดขึ้น โดยฉบับแรกได้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 (ค.ศ. 1983) เป็นนิตยสารราย 3 เดือน โดยมี อน.นพ.สุมิน พฤกษิกานนท์ จากสโมสรโรตารีเชียงใหม่เหนือเป็นบรรณาธิการ

ปี 2529-30 (ค.ศ. 1986-87)

  • จำนวนสโมสรโรตารีในภาค 335 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 99 แห่ง ทางโรตารีสากลจึงเห็นพ้องที่จะแยกภาค 335 ออกเป็น 2 ภาค คือภาค 335 และ 336 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 (ค.ศ. 1985)
  • อาณาเขตของภาค 335 ครอบคลุมแถบภาคกลางของประเทศไทยและตามชายฝั่งภาคตะวันออก รวมถึงในเขตกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนสโมสรทั้งหมดประมาณ 52 แห่ง อยู่ภายใต้การบริหารของผู้ว่าการภาค ศาสตราจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา แห่งสโมสรโรตารีกรุงเทพ ซึ่งได้กลายมาเป็นผู้ว่าการภาคคนแรกของภาค 335 แห่งใหม่
  • เขตความรับผิดชอบของภาค 336 ครอบคลุมภาคกลางตอนบนและจังหวัดทางภาคเหนือตลอดจนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนสโมสรทั้งสิ้น 47 แห่งภายใต้การบริหารงานของผู้ว่าการภาคคนแรกคือ ผวภ.ชยันต์ เธียรปัญญา แห่งสโมสรโรตารีลำปาง
  • ในช่วงปีนี้ โรตารีในประเทศไทยต้องจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่า ได้มีการแปล Manual of Procedure ซึ่งถือเป็นคัมภีร์ของโรตารีออกเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรกและจัดพิมพ์โดย ผู้ว่าการภาค นพ.สุมิน พฤกษิกานนท์ ทั้งนี้ การแปลทั้งหมดเกิดขึ้นจากการอาสาสมัครของมวลมิตรโรแทเรียน ซึ่งตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางด้านภาษา ให้เข้าถึงความหมายที่ถ่องแท้ชัดเจนของฉบับภาษาอังกฤษ (3 ปีต่อมาเมื่อโรตารีสากลจัดพิมพ์ฉบับ ปี 2532 (ค.ศ.1989) อาสาสมัครกลุ่มเดิมได้เร่งรีบทำการแปล และนำต้นฉบับไปมอบให้ผู้ว่าการภาค (ในเวลาต่อมา) ม.ร.ว.โอภาศ กาญจนะวิชัย แห่งภาค 335 เป็นผู้จัดพิมพ์ในปี 2533)

ปี 2530-31 (ค.ศ. 1987-88)

  • หลังจากนิตยสารโรตารีไทยอยู่ในระยะทดลองมาตั้งแต่ปี 2526 ก็ได้รับการรับรองให้เป็นนิตยสารฉบับภูมิภาคที่เป็นทางการของโรตารีสากล จัดพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ในเดือนกรกฎาคม 2530 (ปีที่ 5 ฉบับที่ 17 กรกฎาคม 2530) มี ผวภ.นพ.สุมิน พฤกษิกานนท์ สโมสรโรตารีเชียงใหม่เหนือทำหน้าที่บรรณาธิการ

ปี 2533-34 (ค.ศ. 1990-91)

  • อผภ.พิชัย รัตตกุล สโมสรโรตารีธนบุรี ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารโรตารีสากล (ปี 2533-35) ถือเป็นคนไทยคนที่ 2 ซึ่งได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนี้
  • สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ในงานฉลองวาระที่องค์กรโรตารีในประเทศไทยครบ 60 ปี ณ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า กรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2533

ปี 2534-35 (ค.ศ. 1991-92)

  • โรตารีสากลได้กำหนดหมายเลขภาคโรตารีอีกครั้งให้เป็นตัวเลขสี่หลัก ภาค 335 และ 336 ถูกเปลี่ยนเป็นภาค 3350 และ 3360 ตามลำดับ เริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคม 2534 โดย พลเอก สายหยุด เกิดผล (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด) สมาชิกสโมสรโรตารีกรุงเทพได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการภาค 3350 คนแรก และ ผวภ.อนันต์ ชันขุนทด สโมสรโรตารีลำพูน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการภาคคนแรกของภาค 3360

ปี 2535-36 (ค.ศ. 1992-93)

  • ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2535 (ค.ศ. 1992) โรตารีประเทศไทยได้จัดแบ่งพื้นที่ใหม่เป็น 4 ภาค คือ ภาค 3330 ครอบคลุมภาคใต้ โดยมี ผวภ.บำรุง อดิพัฒน์ จากสโมสรโรตารีนครปฐม เป็นผู้ว่าการภาคคนแรก ภาค 3340 ครอบคลุมจังหวัดทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ มี ผวภ.นิเวศน์ คุณาวิศรุต จากสโมสรโรตารีจันทบุรี เป็นผู้ว่าการภาคคนแรก ภาค 3350 ครอบคลุมภาคกลาง มี ผวภ.นรเศรษฐ ปัทมานันท์ แห่งสโมสรโรตารีบางรัก เป็นผู้ว่าการภาคคนแรก และ ภาค 3360 ครอบคลุมจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศ มี ผวภ.ศิริ ทรวงแสวง จากสโมสรโรตารีเชียงใหม่เป็นผู้ว่าการภาคคนแรก
  • ในช่วงวาระของผู้ว่าการภาค นรเศรษฐ์ ปัทมานันท์ แห่งภาค 3350 ท่านประธานโรตารีสากล มร.คลิฟฟอร์ด แอล ด๊อกเตอร์แมน ได้มาเยือนเมืองไทยเพื่อที่จะประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ ของโรตารีไปทั่วโลก หลังจากที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โครงการรู้หนังสือได้รับการยกย่องในงานเฉลิมฉลอง
  • อผภ.ม.ร.ว.โอภาศ กาญจนะวิชัย สโมสรโรตารีดุสิต ทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารนิตยสารโรตารีไทย สืบต่อจาก อผภ.นพ.สุมิน พฤกษิกานนท์ ที่ปฏิบัติหน้าที่บรรณาธิการตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับที่ 43 ในปี 2535
  • ในปีนี้ ศูนย์โรตารีในประเทศไทย ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่ภาค 3350 และ 3360 ณ เมืองพัทยา ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2535 (ค.ศ. 1992) โดยในระยะแรกมีที่ทำการชั่วคราว ณ สำนักงานของผู้ว่าการภาคนรเศรษฐ์ ปัทมานันท์ ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดหาที่ทำการถาวรของศูนย์ฯ และได้คัดเลือกสถานที่เหมาะสมซึ่งได้แก่ห้องชุดของอาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ 2 ชั้น 32 ซอยอโศก ศูนย์ฯ ได้ย้ายไปที่ทำการถาวรแห่งนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2540 (ค.ศ. 1997)

ปี 2536-37 (ค.ศ. 1993-94)

  • อดีตกรรมการบริหารโรตารีสากล พิชัย รัตตกุล ได้เป็นประธานจัดการประชุมโรตารีสากลในไทเป ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 12-15 มิถุนายน 2537 มีผู้เข้าร่วมประชุม 31,161 คนจาก 95 ประเทศ

ปี 2537-38 (ค.ศ. 1994-95)

  • โรตารีสากลได้รับรองให้สโมสรโรตารีพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นสมาชิกของโรตารีสากล สังกัดร่วมกับภาค 3350 โดยได้รับสารตราตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538

ปี 2538-39 (ค.ศ. 1995-96)

  • อดีตกรรมการบริหารโรตารีสากล พิชัย รัตตกุล ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกประธานโรตารีสากล และเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาประธานโรตารีสากล

ปี 2539-40 (ค.ศ. 1996-97)

  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโรตารีสากลภาคพื้นเอเชีย ปี 2539 (1996 Asia Regional Conference) ระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการประชุม Regional Conference ครั้งสุดท้ายที่โรตารีสากลจัดขึ้น โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นประธานเปิดการประชุม การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีผู้เข้าร่วมประชุมหมื่นคนเศษ

ปี 2541-42 (ค.ศ. 1998-99)

  • โรตารีภาค 3330, 3340, 3350 และ 3360 (ประเทศไทย, กัมพูชา) มีสมาชิก 5,786 คน ใน 228 สโมสร
  • โรตารีสากลแต่งตั้งผู้แทนดูแลการเงินของโรตารีสากลในประเทศไทย (RI Fiscal Agent in Thailand) โดย อผภ.โกวิท สุวรรณสิงห์ รับตำแหน่ง ทำให้ทั้ง 4 ภาค ไม่ต้องส่งเงินค่าบำรุงโรตารีสากลและเงินบริจาคให้มูลนิธิโรตารีของโรตารีสากล ออกนอกประเทศอีกต่อไป
  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 1998 Bangkok Rotary Institute, Zones 4B, 6A, 6B & 7B ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2541

ปี 2542-43 (ค.ศ. 1999-2000)

  • ในวันที่ 24-26 มีนาคม 2543 (ค.ศ. 2000) ภาคทั้ง 4 ในประเทศไทยคือ 3330, 3340, 3350 และ 3360 ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ร่วม 4 ภาคเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง มีโรแทเรียน โรตารีแอนน์ และเยาวชนแลกเปลี่ยนเข้าร่วมถึง 2,020 คน

ปี 2543-44 (ค.ศ. 2000-01)

  • เป็นปีที่โรตารีในประเทศไทยมีอายุครบ 70 ปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ ทั้ง 4 ภาคได้ร่วมใจกันจัดรายการ "70 ปีโรตารีไทย รวมใจถวายมหาราช" ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน ระหว่างเวลา 22.30-01.00 น. และจัดให้มีงานเฉลิมฉลองในวันที่ 28 พฤจิกายน ซึ่งเป็นวันเกิดของสโมสรโรตารีกรุงเทพและโรตารีในประเทศไทย ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยในงานนี้ ประธานโรตารีสากลแฟรงค์ เจ เดฟลิน ได้เดินทางมาร่วมงานด้วย

ปี 2544-45 (ค.ศ. 2001-02)

  • ประเทศไทยมีผู้ว่าการภาคสตรีคนแรก คือ ผวภ.ศรียา ศิริเวช (สโมสรโรตารีศรีตาปี) ภาค 3330
  • ประธานโรตารีสากลริชาร์ด ดี คิง และภริยาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ร่วมงานสดุดีผลงานของโรตารีในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีผู้ร่วมงาน 2,137 คน และประธานโรตารีสากลได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9

ปี 2545-46 (ค.ศ. 2002-03)

  • ประธานโรตารีสากล พิชัย รัตตกุล เป็นคนไทยคนแรกที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานโรตารีสากล ปี 2545-46 โดยใช้คติพจน์ “มีน้ำใจให้ความรัก (Sow the Seeds of Love)” เป็นคติพจน์ประธานโรตารีสากล
  • คณะกรรมการบริหารโรตารีสากลอนุมัติให้ศูนย์โรตารีในประเทศไทยเป็นกลุ่มบริหารภาคร่วม (Multidistrict Administrative Group) ซึ่งหมายความว่าการดำเนินงานของศูนย์โรตารีฯ ได้รับการเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากโรตารีสากล
  • โรตารีในประเทศไทยจัดการประชุมใหญ่ร่วม 4 ภาค ในวันที่ 7-8 มีนาคม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองตำแหน่งประธานโรตารีสากลคนไทยคนแรก โดยท่านประธานโรตารีสากลพิชัย รัตตกุล มาร่วมประชุมด้วยตนเอง
  • มีการจัดการอบรมนายกรับเลือกร่วม 4 ภาคเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคม 2546 ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ กรุงเทพฯ
  • นิตยสาร The Thai Rotarian ได้จัดทำเว็บไซต์ของโรแทเรียนในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก www.rotaryinthailand.org ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับโรตารีมากมาย มีทั้งส่วนของข่าวโรตารี โรตารีในประเทศไทย คู่มือและจุลสารโรตารี ฯลฯ
  • ประธานโรตารีสากลพิชัย รัตตกุล นำคณะกรรมการบริหารโรตารีสากลมาประชุมในประเทศไทย และเยี่ยมชมพร้อมทั้งจัดงานเลี้ยงรับรองที่ศูนย์โรตารีในประเทศไทย ก่อนการประชุมใหญ่โรตารีสากลที่นครบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย

ปี 2546-47 (ค.ศ. 2003-04)

  • นิตยสารโรตารีประเทศไทยเริ่มจัดพิมพ์เป็นราย 2 เดือนฉบับแรก ฉบับที่ 87 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2546 เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปีนิตยสารโรตารีไทยซึ่งมีนายแพทย์สุมิน พฤกษิกานนท์ เป็นบรรณาธิการคนแรก

ปี 2547-48 (ค.ศ. 2004-05)

  • โรตารีภาค 3330, 3340, 3350 และ 3360 (ประเทศไทย, กัมพูชา) มีสมาชิก 6,958 คน ใน 273 สโมสร
  • โรตารีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2004 Bangkok Rotary Zone Institute สำหรับ โซน 4B, 6B และ 7B ระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคม 2547
  • โรตารีประเทศไทยทำ “โครงการน้ำใจโรตารี” เพื่อช่วยผู้ประสบภัยสึนามิที่จังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ระนอง สตูล และตรัง (ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2547) มี อผภ.ชัยสิน มณีนันทน์ เป็นประธาน และอดีตประธานโรตารีสากลพิชัย รัตตกุล เป็นที่ปรึกษา ได้รับเงินบริจาคจากโรตารีทั่วโลก 95 ล้านบาท

ปี 2548-49 (ค.ศ. 2005-06)

  • อผภ.นรเศรษฐ ปัทมานันท์ ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารโรตารีสากล (ปี 2548-50) นับเป็นคนไทยคนที่ 3 ที่ได้รับตำแหน่งนี้
  • นิตยสารโรตารีฉบับภาษาไทยจัดพิมพ์ฉบับที่ 100
  • โรตารีประเทศไทยจัดทำแสตมป์ที่ระลึก เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปีโรตารี
  • ปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

ปี 2549-50 (ค.ศ. 2006-07)

  • โรตารีภาค 3330, 3340, 3350 และ 3360 (ประเทศไทย, กัมพูชา) มีสมาชิก 6,993 คน ใน 287 สโมสร
  • สโมสรโรตารีเวียงจันทน์ ใน สปป.ลาว ได้รับสารตราตั้งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2549 สังกัด ภาค 3360 (ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1957-58)
  • นักศึกษาทุนสันติภาพโรตารี Class 1 เริ่มการศึกษาในโปรแกรมการศึกษาสันติภาพและข้อขัดแย้งของโรตารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Rotary Center for Peace and Conflict Studies at Chulalongkorn University) มีผู้รับทุน 15 คน จาก 11 ประเทศ โดยมี ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ เป็นผู้อำนวยการ

ปี 2550-51 (ค.ศ. 2007-08)

  • อดีตประธานโรตารีสากล พิชัย รัตตกุล เป็นประธานมูลนิธิโรตารี (ปี 2550-51)
  • เกิดพายุไซโคลนนาร์กีสที่ประเทศพม่าในเดือนพฤษภาคม 2551 สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่ชีวิตผู้คนและทรัพย์สิน โรแทเรียนในประเทศไทยร่วมกันบริจาคเงิน 1 ล้านบาทเศษ เพื่อโครงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย

ปี 2551-52 (ค.ศ. 2008-09)

  • มูลนิธิโรตารีของโรตารีสากลริเริ่มกองทุนถาวร Bhichai Rattakul Endowed Fund เพื่อเป็นเกียรติแด่อดีตประธานโรตารีสากลพิชัย รัตตกุล โดยจะนำรายได้จากการลงทุนไปใช้เพื่อสนับสนุนศูนย์สันติภาพโรตารี (บรรลุเป้าหมายในการก่อตั้งกองทุนโดยได้รับเงินบริจาค 564,543.59 เหรียญ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2009)
  • โรแทเรียนและครอบครัวเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงิน 9,999,999.99 บาท สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2552

ปี 2553-54 (ค.ศ. 2010-11)

  • สโมสรโรตารีกรุงเทพ ฉลองครบรอบ 80 ปี การก่อตั้งโรตารีในประเทศไทย
  • โรตารีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2010 Bangkok Rotary Institute, Zones 6B, 7A & 10B ระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2553

ปี 2554-55 (ค.ศ. 2011-12)

  • สโมสรโรตารีกรุงเทพ ฉลองครบรอบ 80 ปี การก่อตั้งโรตารีในประเทศไทย
  • เกิดอุทกภัยใหญ่ในประเทศไทย โรแทเรียนจากต่างประเทศร่วมกันบริจาคเงินส่งมายังโรตารีประเทศไทย และท่านอดีตประธานโรตารีสากล พิชัย รัตตกุล เป็นผู้นำในการดำเนินโครงการเพื่อเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัย
  • มูลนิธิโรตารีของโรตารีสากลจัดตั้ง Rotary Thailand Disaster Relief and Recovery Fund เพื่อรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในประเทศไทย
  • อกบร.นรเศรษฐ ปัทมานันท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานฝ่ายเจ้าภาพจัดการประชุม 2012 RI Convention เมื่อวันที่ 6-9 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี มีผู้ร่วมประชุม 33,104 คน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุม

ปี 2556-57 (ค.ศ. 2013-14)

  • มูลนิธิโรตารีของโรตารีสากลประกาศใช้ Future Vision Plan ทั่วโลก (ภาค 3330 เข้าร่วมใน Future Vision Plan Pilot Project เมื่อปี 2553)
  • มีการก่อตั้งสโมสรโรตารีอีคลับขึ้นเป็นครั้งแรก คือ สโมสรโรตารีอีคลับ ภาค 3330 ได้รับสารตราตั้งเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2556
  • มีการก่อตั้งสโมสรโรตารี Yangon ประเทศเมียนมาร์ ได้รับใบชาร์เตอร์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 สังกัดภาค 3350 (ก่อตั้งครั้งแรก ปี 1929-30)

ปี 2557-58 (ค.ศ. 2014-15)

  • โรตารีภาค 3330, 3340, 3350 และ 3360 (ประเทศไทย, กัมพูชา, สปป.ลาว และ เมียนมาร์) มีสมาชิก 8,056 คน 318 สโมสร
  • โรตารีในประเทศไทยจัดงาน “วันโรตารีไทย” (Thai Rotary Day) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 โดยมีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป รายการบันเทิง เป็นต้น และเพื่อเป็นการต้อนรับประธานโรตารีสากลแกรี ฮวง เดินทางมาเยือนประเทศไทย

ปี 2558-59 (ค.ศ. 2015-16)

  • อผภ.รศ.ดร.เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารโรตารีสากล (ปี 2558-60) นับเป็นคนไทยคนที่ 4 ที่ได้รับตำแหน่งนี้
  • โรตารีสากลเรียกเก็บค่าบำรุงโดยใช้ Club Invoice แทน SAR (semi-Annual Report) ทำให้โรแทเรียนต้องปรับปรุงรายชื่อสมาชิกให้เป็นปัจจุบันก่อนการเรียกเก็บเงิน
  • โรแทเรียนไทยร่วมใจกันบริจาคและส่งเงิน 1.762 ล้านบาท ไปยังโรตารีประเทศญี่ปุ่นเพื่อการฟื้นฟูภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดและสึนามิในภูมิภาคโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559

ปี 2559-60 (ค.ศ. 2016-17)

  • พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จสวรรคต โรตารีในประเทศไทยสูญเสีย องค์อุปถัมภ์สโมสรโรตารีในประเทศไทยและพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย
  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด 2016 Bangkok Rotary institute, Zones 6B, 7A & 10B ระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2559

ปี 2560-61 (ค.ศ. 2017-18)

  • โรตารีภาค 3330, 3340, 3350 และ 3360 (ประเทศไทย, กัมพูชา, สปป.ลาว และ เมียนมาร์) มีสมาชิก 8,261 คน ใน 346 สโมสร
  • มีการจัดการประชุมใหญ่ภาคร่วม ภาค 3310-3330-3340-3350 และ 3360 ประกอบด้วยประเทศบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และประเทศไทย ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค - BITEC โดยประธานโรตารีสากลจอห์น เจิร์มและภรรยามาร่วมงานด้วย
  • สโมสรโรตารีในประเทศไทยร่วมใจกันทำโครงการในแนวพระราชดำริเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของสโมสรโรตารีในประเทศไทย และเพื่อเป็นการดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่าน ตามที่อดีตประธานโรตารีสากลพิชัย รัตตกุลนำเสนอ โดยการจัดสร้างแก้มลิงร่วมกับกรมชลประทาน และต่อยอดเป็นโครงการปรับภูมิทัศน์ บึงแห่งความรัก ณ หนองโนนต่าย บ้านเสาวัด ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร
  • โรตารีทั่วไทยร่วมใจเทิดไท้ราชันย์แห่งราชันสู่สวรรคาลัย กิจกรรมปั่นจักรยานร่วม 4 ภาค 3330 3340 3350 3360 จากแต่ละสโมสร แต่ละภาค เดินทางเข้ามารวมตัวกันเพื่อเข้าถวายความอาลัย ถวายดอกไม้จันทน์ ณ สำนักพระราชวัง ถนนเสือป่า กทม. (11-25 กันยายน 2560)
  • นิตยสารโรตารีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาบรรณาธิการนิตยสารโรตารีระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2017 Asia Pacific Regional Editors Seminar) ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2560 มีบรรณาธิการนิตยสารรวม 6 ฉบับจาก 6 ประเทศ (อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และไทย) และผู้แทนจากโรตารีสากลร่วมประชุม
  • เกิดเหตุการณ์เยาวชน 13 คนติดภายในถ้ำหลวงวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และมีปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยผู้ประสบภัยในเดือนมิถุนายน 2561 ในการนี้ มีโรแทเรียนหลายคนเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ร่วมปฏิบัติงานในภารกิจช่วยเหลือเยาวชนทั้งเป็นล่าม และสนับสนุนออกซิเจน และอื่น ๆ อีกมากมาย

ปี 2561-62 (ค.ศ. 2018-19)

  • เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561 โรแทเรียนในประเทศไทยได้ร่วมกันบริจาคเงินและส่งมอบเงินจำนวน 30,000 เหรียญสหรัฐให้แก่ผู้แทนประเทศอินโดนีเซียในการประชุม Rotary Institute ยอกยากาตาร์ อินโดนีเซีย

ปี 2562-63 (ค.ศ. 2019-20)

  • เป็นปีเฉลิมฉลอง 50 ปีโรทาแรคท์ในประเทศไทย สโมสรโรทาแรคท์แห่งแรกในประเทศไทยคือสโมสรโรทาแรคท์วิทยาลัยครูนครสวรรค์ ภายใต้การอุปถัมภ์ของสโมสรโรตารีนครสวรรค์ ปัจจุบันได้ยุติบทบาทแล้ว และสโมสรที่ 2 คือ สโมสรโรทาแรคท์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
  • เกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โรแทเรียนช่วยกันจัดทำหน้ากากอนามัย จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ บริจาคสิ่งของเครื่องใช้และอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยทั่วไป

ปี 2563-64 (ค.ศ. 2020-21)

  • สโมสรโรตารี Saigon และ Saigon International ประเทศเวียดนามได้รับสารตราตั้ง เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เป็นส่วนหนึ่งของภาค 3350 (ก่อตั้งครั้งแรก ปี 1952-53)

ปี 2564-65 (ค.ศ. 2021-22)

  • สโมสรโรตารีนกยูง-พะเยา ซึ่งเป็นสโมสร cause-based แห่งแรก ได้รับสารตราตั้งเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 สังกัดภาค 3360
  • โรตารีสากลและโรตารีประเทศไทยได้สูญเสียสมาชิกอันทรงคุณค่า เมื่ออดีตประธานโรตารีสากล พิชัย รัตตกุล (1992-93) ผู้มีคุณูปการยิ่งต่อโรตารีประเทศไทยและศูนย์โรตารีในประเทศไทยได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
  • อกบร.นรเศรษฐ ปัทมานันท์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานมูลนิธิภาคโรตารีไทย สืบต่อจากอดีตประธานโรตารีสากล พิชัย รัตตกุล



ศูนย์โรตารีในประเทศไทย

75/82-83 อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ 2 ชั้น 32 ซอยวัฒนา ถ.อโศก เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทร. 0 2661 6720-1 โทรสาร 0 2661 6719 E-mail: info.rotarythailand@gmail.com